ถนนเยียนไต้เซี๋ยเจีย(烟袋斜街) @กรุงปักกิ่ง – เป็นถนนโบราณยาวประมาณ 232 เมตร ชื่อเรียกสมัยฮ่องเต้เฉียนหลง(ครองราชย์ ค.ศ.1735-1795)แห่งราชวงศ์ชิง คือ "ถนนกู่โหลวเซี๋ยเจีย" ต่อมาบันทึกปลายราชวงศ์ชิงสมัยฮ่องเต้กวงสู(ครองราชย์ ค.ศ.1875-1908)ใช้ว่า "ถนนเยียนไต้เซี๋ยเจีย" โดยเป็นถนนค้ากล้องยาสูบ ขึ้นกรอบภาพเขียนภาพวาด และเครื่องหยกเป็นสำคัญ ปี 2007 ปักกิ่งได้เริ่มทำการอนุรักษ์ซ่อมแซม และกำหนดให้เป็นถนนการค้าที่คงกลิ่นอายเก่าแก่เฉพาะตัวไว้ มีร้านค้าของที่ระลึกและอาหารท้องถิ่นขึ้นชื่อของปักกิ่งรวมอยู่ด้วย ได้แก่ "เป้าตู่(กระเพาะแพะ/วัวลวก)" "ฉ่าวกัน(ตับและไส้หมูตุ๋น)" "หุนทุ่น(เกี๊ยวน้ำ)" "เหมินติงโร่วปิ่ง(เปี๊ยะหมุดประตูไส้เนื้อวัว)"
ซ้าย–ฉ่าวกัน กลาง–เปี๊ยะเหมินติง ขวา-เป้าตู่
"เปี๊ยะเหมินติง (门钉肉饼)" ถือเป็นอาหารทานเล่นของปักกิ่ง ได้ชื่อนี้จากพระนางซูสีไทเฮา เนื่องจากมีอยู่วันหนึ่งพ่อครัวหลวงได้ทำของทานเล่นใหม่นำขึ้นถวาย ซูสีไทเฮาเสวยแล้วรู้สึกประทับใจในรสอร่อยแปลกใหม่นี้ยิ่ง จึงตรัสถามถึงชื่อขนม ทำเอาพ่อครัวอึ้งเพราะไม่ได้ตั้งชื่อเตรียมไว้ จะตอบว่าไม่รู้ก็กระไร นึกไปนึกมาเห็นรูปร่างขนมคล้ายหมุดติดประตู(เหมินติง) จึงกราบทูลว่า "เหมินติงโร่วปิ่งพะยะค่ะ"
"หมุดประตู" ที่เห็นเด่นเป็นเอกลักษณ์บนบานประตูจีน มีปรากฏใช้งานมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย(ค.ศ.581-618)และถัง(ค.ศ.618-907) โดยแรกเริ่มมีขึ้นเพื่อใช้ช่วยการยึดติดเป็นสำคัญ เพราะประตูบานหนาต้องใช้แผ่นไม้กระดานนับพันมาประกบกัน จะยึดเพียงด้านข้างนานวันก็หลุดหล่น จึงเกิดการตอกหมุดบนบานประตูขึ้น นานไปการตอกหมุดยึดมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้นเรื่อยๆ มองดูสวยงามจึงกลายเป็นเสมือนเครื่องประดับบานประตูอย่างหนึ่ง และจำนวนหมุดที่ตอกมากน้อยก็กลายเป็นตัวแทนแสดงถึงฐานันดรศักดิ์ไปด้วยในตัว
โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างของราชสำนักที่มีความใหญ่โตเป็นพิเศษ บานประตูย่อมใหญ่และจำนวนหมุดที่ตอกก็ย่อมมากตามไปด้วย ซึ่งสมัยราชวงศ์ชิง(ค.ศ.1616- 1911)มีการกำหนดกฎเกณฑ์แน่ชัดว่า บานประตูสิ่งปลูกสร้างของราชสำนัก จะต้องมีหมุดตอกแนวนอน 9 แถว แนวตั้ง 9 แถว รวมเป็น 81 หมุด เพราะเลข 9 เป็นเลขที่ใหญ่สุดแทนความสูงส่งที่สุดของจักรพรรดิ รองไปสำหรับที่ประทับเจ้าฟ้าหรือพระญาติชั้นสูงเป็นเจ็ดคูณเก้า ชั้นรองลงไปเป็นเจ็ดคูณเจ็ด และห้าคูณห้า
ดังนั้น บานประตูเข้าออกของพระราชวังต้องห้าม "กู้กง" กรุงปักกิ่ง ไม่ว่าจะเป็นประตูทางทิศใต้ "ประตูอู่เหมิน" (ประตูทางเข้าเที่ยวชมพระราชวังกู้กง) หรือประตูทางทิศเหนือ "ประตูเสินอู่เหมิน" และประตูทางตะวันตก "ประตูซีหัวเหมิน" ล้วนมีหมุดติดบนบานประตูแบบเก้าคูณเก้า รวม 81 หมุดทั้งสิ้น จะยกเว้นเพียงบานประตูทางทิศตะวันออก "ประตูตงหัวเหมิน" ที่เป็นแบบแปดคูณเก้า รวม 72 หมุดเท่านั้น ถึงตอนนี้ยังไม่มีคำอธิบายแน่ชัด บ้างว่าเพราะประตูตงหัวเหมิน ได้ชื่อว่าประตูผี โลงพระศพของฮ่องเต้ที่สิ้นพระชนม์จะถูกเคลื่อนออกจากพระราชวังทางประตูนี้
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府
ถนนเยียนไต้เซี๋ยเจีย ตั้งอยู่ในเขตซีเฉิงของกรุงปักกิ่ง
นั่งใต้ดินสาย 8 ลงที่สถานี "สือช่าไห่" ออกประตู A2 เดินขึ้นเหนือไปประมาณ 400 เมตร
ลิงค์เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:ปลอกหุ้มเล็บหญิงจีนโบราณ พระนางซูสีไทเฮา
https://thai.cri.cn/247/2012/05/15/225s198085.htm
เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:"ม๋าโต้วฟู" อาหารปักกิ่งบ้านๆ ที่โปรดปรานพระนางซูสีไทเฮา
https://thai.cri.cn/247/2016/01/19/101s239099.htm
เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:"โต้วจือร์" อาหารปักกิ่งบ้านๆ ที่โปรดปรานจักรพรรดิเฉียนหลง
https://thai.cri.cn/247/2016/01/14/101s238984.htm
เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา: ทรงผมหญิงจีนโบราณ
https://thai.cri.cn/247/2012/05/11/225s197961.htm
เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:รองเท้าส้นสูงหญิงแมนจูสมัยโบราณ