เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:ตำราจีนโบราณทำไมต้องเขียนจากบนลงล่าง
  2012-01-09 20:34:21  cri

เจี๋ยกู่เหวิน(甲骨文) หรืออักษรจีนโบราณที่จารึกบนกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ นับเป็นอักษรโบราณที่มีความเก่าแก่และมีความสมบูรณ์ที่สุดที่ถูกค้นพบในจีน ซึ่งในสมัยที่กระดาษยังไม่มีการใช้เป็นที่แพร่หลายนั้น ในสมัยราชวงศ์โจว(1066 - 256 ปีก่อนค.ศ.) ราชวงศ์ฉิน(221-206ปีก่อนค.ศ.) ถึงราชวงศ์ฮั่น(206ปีก่อนค.ศ. - ค.ศ.220) ตัวอักษรจีนโดยมากได้ถูกเขียนบันทึกลงบนแผ่นไม้ไผ่หรือแผ่นไม้จากบนลงล่าง และเปิดอ่านจากขวาไปซ้าย ซึ่งความเคยชินนี้สืบเนื่องมาจากวัสดุที่ใช้ที่เป็นแผ่นไม้ไผ่ที่มีความแคบและยาว และคนจีนสมัยก่อนยึดมือขวาเป็นหลัก ขยับมือซ้ายลากเปิดออกนั่นเอง โดยขั้นตอนการเขียนบันทึกนั้นจะเริ่มจากการใช้มือซ้ายหยิบแผ่นไม้ขึ้นมา มือขวาจับพู่กันจุ่มหมึกเขียน พอเขียนเสร็จแล้วก็แยกวางลงไว้ด้านขวา และหยิบแผ่นไม้อันใหม่ทางด้านซ้ายขึ้นมาเขียนต่อ ทำซ้ำไปอย่างนี้จนเขียนเสร็จ ก็จะนำเชือกหนังวัวมาร้อยเรียงมัดติดไว้ด้วยกัน

จู๋เจี่ยน(竹简) หรือแผ่นไม้ไผ่ เป็นวัสดุหลักสำคัญในการเขียนหนังสือของคนจีนในอดีต ได้รับความนิยมอย่างยิ่งในสมัยราชวงศ์โจวตะวันออก(770-256ปีก่อนค.ศ.) เรื่อยมาถึงยุคสมัยเว่ยจิ้น ค.ศ. 220-420 (ยุคสมัยสามก๊กถึงยุคสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก-ตะวันออก) โดยนำไม้ไผ่มาเหลาเกลาจนมีลักษณะแคบยาว ซึ่งตำราบันทึกม้วนไม้ไผ่นี้ หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อบังคับ ข้อกำหนดทางกฎหมายหรือพระราชกฤษฎีกาจะมีความยาวราว 3ฟุต (ประมาณ 67.5 ซม.) หากเป็นการคัดลอกตำราเล่มสำคัญๆ จะมีความยาว 2ฟุต 4นิ้ว (ประมาณ 56ซม.) และหากเป็นเพียงการเขียนจดหมายทั่วไปของชาวบ้านจะมีความยาวอยู่ที่ 1 ฟุต (ประมาณ 23 ซม.) โดยที่เมืองฉางซาในมณฑลหูหนาน เมืองจิงโจวในมณฑลหูเป่ย เมืองหลินอี๋ในมณฑลซานตง และในบางพื้นที่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ อาทิ ตุนหวง จีว์เหยียน อู่เวย ล้วนเป็นแหล่งสำคัญที่มีการขุดค้นพบบันทึกไม้ไผ่โบราณ อย่างที่จีว์เหยียนในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ได้มีการค้นพบม้วนตำราไม้ไผ่สมัยฮั่นตะวันออก(ค.ศ.25-220)

ภายหลังเกิดการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมใหม่ คนจีนเริ่มรับเอาวิธีการอ่านแบบชาวตะวันตก ที่ในอดีตทำการจดบันทึกหรือวาดภาพลงบนหนังสัตว์หรือบนผิวไม้และเปิดอ่านจากบนลงล่าง จดบันทึกในแนวนอนจากซ้ายไปขวา แต่ยังมีคนจีนรุ่นใหม่อีกไม่น้อยที่บอกชื่นชอบการเขียนแบบบนลงล่างอย่างจีนโบราณ เพราะรู้สึกว่ามีความสะดวกและสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้อ่านได้อย่างดี เหมือนอย่างภาพที่เห็นในหนังจีนย้อนยุค ที่นักแสดงใช้มือหนึ่งถือหนังสืออ่าน อีกมือว่างสามารถหยิบพัดขยับโบก หรือเอาไพล่หลัง หรือลูบเคราไปพลาง เป็นท่วงท่าที่ดูสง่างามกลมกลืนและชวนเพลินทั้งคนแสดงและคนดู

แต่บางคนเห็นแย้งว่า การเขียนแบบจีนโบราณนั้น ทำให้คนอ่านเหมือนแสดงความคำนับเห็นด้วยในเนื้อความตามหนังสือ ผงกหัวหงึกๆ ไม่หยุด เหมือนกับไม่รู้จักคิด ผิดกับของตะวันตกที่คนอ่านจะอ่านไปส่ายหัวไป แสดงความคัดค้าน เหมือนกับอ่านไปคิดไป ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องนานาจิตตัง ที่หากมองโลกในแง่ดีแล้ว ความคิดเห็นที่แตกต่างสามารถช่วยแต่งแต้มโลกให้มีสีสันไม่จำเจ ไม่ใช่จะสร้างปัญหาให้กับสังคมเสมอไป...

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040