เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:คนจีนสมัยโบราณใช้อะไรแก้ไขกลบคำผิด
  2012-01-10 17:04:20  cri

ต้นหวงป้อ ที่คนจีนสมัยโบราณนำมาใช้ย้อมกระดาษช่วยป้องกันแมลง

ประเทศจีน เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 5,000 ปี หนึ่งในห้าสุดยอดอารยธรรมเก่าแก่ของโลก ซึ่งกระดาษที่คนจีนสมัยโบราณใช้เขียนตำราหรือจดบันทึกต่างๆ นั้น เรียกกันว่า หวงจื่อ黄纸 หรือกระดาษเหลือง ที่ได้มาจากการย้อมด้วยน้ำคั้นจากต้นหวงป้อ黄檗 (หวงไป่ 黄柏) พืชสมุนไพรจีนที่ให้สีเหลือง และน้ำคั้นที่ได้มีคุณสมบัติสำคัญในการป้องกันแมลง เนื่องจากในอดีตยังไม่มียางลบหรือคอมพิวเตอร์ที่ช่วยลบแก้ไขคำผิดได้ง่ายๆ เหมือนในปัจจุบัน หรือการจะให้มานั่งใช้มีดขูดเกลาส่วนทีผิดออกไปจากหน้ากระดาษเหมือนตอนเขียนลงบนแผ่นไม่ไผ่ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ครั้นจะใช้กระดาษปิดทับ หรือเอาผงอะไรมาป้ายกลบคำผิดก็ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

จนต่อมามีคนคิดค้นหาผงป้ายลบคำผิดที่เหมาะสำหรับกระดาษเหลืองนี้ขึ้นมาได้ โดยใช้ "ฉือหวง 雌黄 กำมะถันสีเหลือง" หรือในอีกชื่อว่า จีกวานสือ鸡冠石 สารแร่ที่มีสีออกเหลืองส้ม สามารถนำไปเป็นสีวาดภาพหรือผสมเพื่อลดความเข้มของสี ซึ่งเมื่อนำไปโรยทาบนคำที่เขียนผิดก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจดีอีกด้วย ไม่เพียงแต่ว่าสีที่ได้มีความใกล้เคียงกับสีของกระดาษเดิมเท่านั้น แต่ยังสามารถปกปิดทับคำผิดและติดทนถาวรอีกด้วย ซึ่งในสมัยราชวงศ์เหนือใต้(ค.ศ. 420-589) ก็มีการใช้วิธีป้ายลบด้วยฉือหวงแบบนี้แล้ว และต่อมาภายหลังได้ "ฉือหวง" ยังถูกนำมาใช้เป็นสำนวนกล่าวเหน็บแนมไปในทางไม่ดีว่า "ซิ่นโขว่ฉือหวง 信口雌黄" ซึ่งหมายถึงพวกที่ชอบพูดจาเรื่อยเปื่อย ไม่คำนึงถึงความจริง

ก้อนแร่ฉือหวงหรือกำมะถันสีเหลือง ตัวช่วยสำคัญแก้ไขคำผิดของคนจีนในอดีต

การเขียนแบบจีนโบราณจากบนลงล่างและจากขวาไปซ้ายนั้น สืบเนื่องมาจากความคิดตามค่านิยมสมัยเก่าที่ถือว่า บนคือกษัตริย์และบิดามารดา ล่างคือขุนนางและ บุตรธิดา ให้ขวานั้นเป็นหลัก ซ้ายนั้นเป็นรอง ซึ่งในการประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติสมัยแรก ครั้งที่สอง เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.1950 นายเฉินเจียเกิง เศรษฐีชาวจีนโพ้นทะเลผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยกย่องในความรักชาติบ้านเกิดยิ่งนั้น เป็นผู้แรกที่เสนอความคิดให้จีนเปลี่ยนระบบวิธีการเขียนเป็นแบบแนวนอนจากซ้ายไปขวาตามอย่างสากล

ต่อมาในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1955 หนังสือพิมพ์รายวัน "กวงหมิงยื่อร์เป้า" ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการตีพิมพ์เป็นแนวนอนครั้งแรก โดยได้มีบทความชี้แจงถึงผู้อ่านว่า "พวกเราเห็นควรว่าระบบการจัดเรียงหนังสือวารสารของจีนนั้น ควรปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามความต้องการและพัฒนาการของยุคสมัย ให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบัน การเขียนตัวหนังสือจีนและจัดเรียงตามแนวนอนเป็นแนวทางสู่การพัฒนา"

หลังจากนั้นก็มีบทความวิเคราะห์สนับสนุนถึงการเขียนหนังสือในแนวนอนเชิงวิทยาศาสตร์จากนักเขียนนักวิชาการจีนชื่อดังในสมัยนั้น ที่นอกจากชี้แจงให้เห็นว่ามีความสะดวกสบายในการจัดเรียง ช่วยให้สามารถใช้ทรัพยากรกระดาษได้อย่างมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า สายตามนุษย์เราจะมองในแนวนอนได้กว้างกว่าแนวตั้ง ซึ่งการอ่านหนังสือในแนวนอน ยังช่วยให้ตาและศีรษะเคลื่อนไหวน้อยกว่าช่วยให้ไม่รู้สึกล้าได้ง่าย ซึ่งภายในช่วงหนึ่งปีนั้น ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนในส่วนของหนังสือพิมพ์ส่วนกลางก่อน และทยอยตามมาด้วยการปรับเปลี่ยนจัดเรียงเป็นแบบแนวนอนในหนังสือพิมพ์อื่นอีก 13 แห่ง จวบกระทั่งหนังสือพิมพ์รายวัน "เหรินหมินยื่อร์เป้า" ได้ปรับเปลี่ยนเป็นแนวนอนในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1956 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั่วประเทศ

ภาพจากเวบไซต์หนังสือพิมพ์ ShenYangWanBao

"นี่คือหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของจีนใหม่" ลุงเหยียนกับของสะสมสุดหวง

ลุงเหยียนเอินฟา ชาวเมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง กับหนังสือพิมพ์เหรินหมินยื่อร์เป้า ฉบับวันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 ที่มีภาพข่าวของประธานเหมาเจ๋อตง และรองประธานทั้งหก อาทิ จูเต๋อ หลิวเซ้าฉี ประกอบบทความรายงานข่าวสำคัญเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลกลางแห่งสาธารณะรัฐประชาชนจีน การประสบความสำเร็จในการจัดประชุมสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของจีนสมัยแรกที่ปิดฉากลงด้วยดี เป็นต้น

โดยใช้ตัวหนังสือจีนตัวเต็ม รูปแบบการจัดเรียงจากบนลงล่างและอ่านจากขวาไปซ้าย (แม้คำบรรยายใต้ภาพจัดเรียงแนวนอน แต่ยังเรียงอ่านจากขวาไปซ้าย) ซึ่งลุงเหยียนมีเก็บสะสมไว้ครบของทั้งเดือนตุลาคม โดยเล่าความเป็นมาให้ฟังว่า ปี 1996ไปเดินตลาดหวายหย่วนเหมินในเมืองเสิ่นหยางแล้วเจอเข้าโดยบังเอิญ และจ่ายเงินซื้อมาทั้งหมดในราคา 4,000 หยวน ด้วยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเตือนความทรงจำและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะนอกจากเป็นประจักษ์พยานการพัฒนาไปข้างหน้าและระลึกถึงพิธีเปิดประเทศอย่างเป็นทางการของจีนใหม่แล้ว ยังช่วยเป็นสื่อกลางให้ชนรุ่นหลังได้ทำความเข้าใจกับอดีตที่ผ่านไป และตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย


เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040