เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:หนึ่งมังกรมีลูกเก้า ลูกทั้งเก้าต่างไม่เหมือน
  2012-01-17 17:00:27  cri

("เก้ามังกรร่อนส่งสุข" ไปรษณียบัตรส่งความสุขที่วางจำหน่ายในปีมังกรนี้ของไปรษณีย์จีน )

สำนวนจีน "หลงเซิงจิ่วจื่อ (龙生九子)" ย่อมาจากคำกล่าวโบราณที่ว่า "หนึ่งมังกรมีลูกเก้า ลูกทั้งเก้าต่างไม่เหมือน" หมายความถึงบุตรมังกรทั้งเก้า มีรูปลักษณ์และนิสัยที่แตกต่างกันไป ซึ่งภายหลังนำมาใช้เปรียบเปรยถึงพี่น้องร่วมสายเลือด ที่แม้จะเป็นลูกของพ่อแม่เดียวกัน แต่ก็ย่อมมีความชอบความสนใจที่แตกต่าง จุดดีด้อยปะปนกันไป โดยลำดับและรายนามบุตรทั้งเก้าของมังกรมีความแตกต่างกันไปบ้างตามแต่ผู้เขียนบันทึกตำรา ในที่นี้จะขอยึดรายละเอียดลำดับบุตรทั้งเก้าของมังกรตามอย่างไปรษณียบัตรรับปีมังกร 2012 ของกรมไปรษณีย์จีน

(จากซ้าย: ปี้ซี่ ชือเหวิ่น ผูเหลา)

พี่ใหญ่ - ปี้ซี่ (赑屃) หรือในอีกชื่อว่า กุยฟู (龟趺) มีรูปร่างเหมือนเต่า ชอบออกแรง รักการแบกสิ่งของมีน้ำหนักไว้บนหลังเป็นที่สุด ดังนั้นจึงพบเห็นได้คุ้นตากับภาพปี้ซี่แบกแท่นศิลาจารึก ซึ่งชาวจีนเชื่อกันว่าการลูบสัมผัสปี้ซี่จะนำมาซึ่งความสุขศิริมงคล

พี่รอง - ชือเหวิ่น (螭吻) หรือชือเหว่ย (鸱尾) รูปร่างคล้ายกับสัตว์เลื้อยคลายจำพวกจิ้งเหลน กิ้งก่า ที่ตัดส่วนหางออกไป ชอบกลืนสิ่งของและรักการเหม่อมองไปไกลๆ มองเห็นได้กว้างๆ ทั่วทุกทิศ คนจีนในอดีตจึงนิยมสร้างชือเหวิ่นประดับไว้บนชายคาบ้าน

พี่สาม - ผูเหลา (蒲牢) รูปร่างคล้ายมังกรแต่มีขนาดเล็กกว่า ชอบส่งเสียงร้อง รักดนตรีและการคำราม นิยมสร้างประดับไว้บนที่แขวนระฆัง ว่ากันว่าผูเหลามีเสียงร้องที่ก้องกังวาน อาศัยอยู่ริมทะเล และกลัวปลาวาฬเป็นที่สุด เมื่อถูกปลาวาฬพุ่งเข้าโจมตี ก็จะส่งเสียงร้องดังไม่หยุด จึงถูกนำมาประดับไว้บนระฆัง โดยทำไม้ตีระฆังสลักเป็นรูปปลาวาฬ หวังให้ระฆังนั้นมีเสียงดังกังวานไพเราะ

(จากซ้าย: ปี้อั้น เทาเที่ย หยาจื้อ)

พี่สี่ - ปี้อั้น (狴犴) หรือเซี่ยนจาง (宪章) ชอบการพิจารณาตัดสินคดีความ รูปลักษณ์คล้ายสิงโต ดูมีพลังน่าเกรงขาม และด้วยแววตาที่ดุดันถมึงทึง ในอดีตนิยมสร้างไว้บนบานประตูคุกที่คุมขัง เพื่อใช้ข่มกำหราบผู้กระทำผิด นอกจากนี้ยังเล่าขานกันว่าปี้อั้นสามารถแยกแยะถูกผิดและตัดสินได้เด็ดขาดเที่ยงธรรม จึงมีการนำภาพของปี้อั้นมาแขวนประดับไว้สองด้านของโถงที่ทำการพิจารณาคดีความ เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนความเป็นกลางถูกต้องยุติธรรม รวมถึงช่วยเพิ่มบรรยากาศความน่าเคารพยำเกรงให้กับสถานที่ได้อีกด้วย

พี่ห้า - เทาเที่ย (饕餮) รูปลักษณ์คล้ายหมาป่า ชอบกินดื่ม สมัยโบราณนิยมนำส่วนศีรษะสร้างประดับไว้บนจอกเหล้าสามขา ซึ่งสมัยราชวงศ์ซาง(1,711-1,066 ปีก่อนคริสตกาล) และโจว(1,066 - 256ปีก่อนคริสตกาล) นิยมใช้เทาเที่ยเป็นลวดลายประดับบนเครื่องทองสัมฤทธิ์ต่างๆ

พี่หก – หยาจื้อ (睚眦) รูปลักษณ์คล้ายหมาไน ชอบการฆ่าและกลิ่นคาวเลือด ซึ่งคำว่า หยาจื้อ มีความหมายตามตัวว่าการมองอย่างอาฆาตมาดร้าย ซึ่งย่อมตามมาด้วยการฆ่าฟันนองเลือด ดังนั้น มังกรหยาจื้อ จึงเป็นมังกรที่ถูกนำไปประดับไว้บนด้ามมีดหรือปลอกกระบี่

(จากซ้าย: ซวนหนี เจียวถู ฉิวหนิว)

พี่เจ็ด - ซวนหนี (狻猊) หรือจินหนี (金猊) หลิงหนี (灵猊) เดิมเป็นชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งของสิงโต ดังนั้น จึงมีรูปลักษณ์อย่างสิงโต ชอบควันไฟและนั่งนิ่งๆ จึงพบเห็นได้ตามแท่นประทับของพระพุทธรูปและกระถางธูปในวัดวาอารามจีนฃ

พี่แปด - เจียวถู (椒图) ชอบปิดปาก มีรูปลักษณ์และอุปนิสัยคล้ายสัตว์จำพวกหอย ที่เมื่อเผชิญกับอันตรายก็จะปิดงับเปลือกแน่นสนิท ชาวจีนจึงนิยมนำมาประดับบนบานประตู ซึ่งพบเห็นได้บ่อยตามที่จับบานประตูใหญ่ เพื่อให้มีความปลอดภัยสนิทแนบนั่นเอง

น้องเก้า - ฉิวหนิว (囚牛) เป็นมังกรสีเหลืองตัวเล็กมีเกล็ดและขา รักดนตรี มักปรากฏลักษณะเงยหน้าอ้าปากประดับบนเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ ที่ไม่เฉพาะแต่เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายหูฉินของชนชาติฮั่นเท่านั้น ยังมีปรากฏให้เห็นในเครื่องสายเย่ว์ฉินของชนเผ่าอี๋จู๋ ซานเสียนของชนเผ่าไป๋จู๋ รวมถึงเครื่องดนตรีอื่นๆ ของทิเบตอีกด้วย

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040