นอกจากการจำแนกประเภทของมังกรตามจำนวนนิ้วเท้าแล้ว มังกรจีนยังมีความหลากหลายเป็นที่มาของชื่อเรียกที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่
หุ่ย 虺 คือ มังกรในช่วงยุคต้นๆ มักอยู่ในน้ำ ซึ่งอาศัยการจินตนาการจำลองรูปลักษณ์มาจากสัตว์เลื้อยคลานจำพวกงู ซึ่งกล่าวกันว่า หุ่ยเมื่อมีอายุถึงห้าร้อยปีจะเปลี่ยนเป็นเจียว蛟 และเจียวพออายุครบหนึ่งพันปีก็จะเลื่อนขั้นเป็นหลง龙 (มังกร) ซึ่งในอดีตมีปรากฏให้เห็นบ้างตามเครื่องทองสัมฤทธิ์เป็นของตกแต่ง แต่ไม่มากนัก
ฉิว 虬หรือฉิวหลง โดยปกติแล้วจะถูกใช้เป็นชื่อเรียกหมายถึงมังกรที่ยังเด็ก ยังอยู่ระหว่างการเจริญเติบโต ไม่มีเขา
ผันชือ蟠螭 คือ มังกรในยุคแรกๆ ไม่มีเขา มีรูปลักษณ์แบบงู ได้รับการบูชาว่าเป็นเทพ ในสมัยโบราณมีกล่าวถึงไว้ว่า เป็นมังกรไม่มีเขาสีเหลือง บ้างว่าเป็นชื่อเรียกของมังกรตัวเมีย ซึ่งลักษณะท่วงท่าขดเลื้อยทะยานตัวของผันชือ ถูกนำมาใช้ประดับตกแต่งเครื่องทองสัมฤทธิ์ หยกแกะสลัก บานกระจกส่องหน้า หรือตามสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงยุคสมัยชุนชิวถึงฉินฮั่น ซึ่งมีทั้งแบบตัวเดียวเดี่ยวๆ เป็นคู่ สามตัว ห้าตัว เรื่อยไปจนถึงแบบเป็นกลุ่มเลยก็มี
เจียว 蛟 โดยทั่วไปแล้วจะหมายถึงมังกรที่มีเกล็ด และสามารถทำให้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมได้ ตามตำนานเชื่อกันว่า เจียวหลงเมื่อได้น้ำก็จะสามารถสร้างเมฆเรียกหมอก เหินทะยานสู่ฟ้าได้ ในสมัยโบราณมักใช้เปรียบเปรยถึงคนเก่งที่ได้รับโอกาสแสดงความสามารถ นอกจากนี้คนทั่วไปยังว่ากันว่า แท้ที่จริงแล้ว เจียว และ หลง ก็คือคำเรียกขานถึงมังกรในช่วงอายุที่แตกต่างกัน โดยช่วงยังเล็กก็คือ เจียว พอโตขึ้นก็เรียก หลง
เจี่ยวหลง 角龙 คือ ชื่อเรียกของมังกรที่มีเขา จากตำราโบราณบันทึกเรื่องแปลก "ซู่อี้จี้" มีกล่าวถึงไว้ดังนี้ "เจียว พออายุได้พันปีจะเปลี่ยนเป็นมังกร และมังกรพอมีอายุได้ห้าร้อยปีจะเป็นเจี่ยวหลง" ดังนั้นเจี่ยวหลงจึงถือได้ว่าเป็นมังกรที่อาวุโสแล้วนั่นเอง
อิงหลง 应龙คือ ชื่อเรียกมังกรที่มีปีก จากบันทึกซู่อี้จี้มีกล่าวต่อว่า มังกรเมื่อมีอายุถึงห้าร้อยปีเปลี่ยนเป็นเจี่ยวหลงแล้ว ต่อไปอีกพันปีก็จะเป็นอิงหลง ดังนั้นอิงหลงที่มีปีกงอกจึงนับเป็นสุดยอดแห่งมังกร ซึ่งลักษณะพิเศษของอิงหลงคือ มีสองปีก ตามลำตัวมีเกล็ด บนสันหลังมีหนาม หัวโตและยาว ริมฝีปากบางแหลม จมูก ตา และหูเล็ก กระบอกตาใหญ่ โหนกคิ้วสูง ฟันคม หน้าผากโหนกนูน ลำคอเรียว ท้องโต หางเรียวยาว ขาทั้งที่สี่ทรงพลังแข็งแรง ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบพบเห็นได้ตามงานศิลปะประดับตกแต่งในรูปแบบต่างๆ อาทิ หยกแกะสลักสมัยจั้นกั๋ว หินแกะสลัก ลายภาพบนผืนผ้าไหม งานไม้เคลือบแลคเกอร์สมัยฮั่น
หั่วหลง 火龙 หรือมังกรไฟ มีปรากฏอยู่ในตำนานผันกู่สร้างโลก โดยจะมีเปลวเพลิงโหมแดงลุกล้อมรอบตัว ซึ่งตามบันทึกของคนโบราณเชื่อกันว่า นับแต่ยุคที่จักรวาลยังไม่เป็นรูปร่าง โลกยังถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควัน หั่วหลงเป็นผู้ที่มอบแสงสว่างให้แก่โลกและเปลวไฟสำหรับการดำรงชีพให้แก่มนุษย์
ผันหลง 蟠龙 คือมังกรที่จำศีลยังไม่ได้ขึ้นสู่สวรรค์ ลักษณะแบบขดกายบิดเกลียวไปมา ซึ่งตามสิ่งปลูกสร้างแบบโบราณของจีน ตามท่อนเสา คาน เพดานต่างๆ จะมีมังกรผันหลงพันเกลียวเลื้อยรอบปรากฏให้เห็นได้ทั่วไป
ชิงหลง 青龙หรือมังกรเขียว ถูกจัดเป็นหนึ่งในสี่เทพอสูรผู้พิทักษ์ โดยนักดาราศาสตร์จีนในอดีตได้แบ่งดวงดาวออกเป็นยี่สิบแปดกลุ่ม เพื่อสำรวจวิถีโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์อื่นๆ และใช้เป็นเกณฑ์แบ่งแยกฤดูกาล โดยได้นำหมู่ดาวยี่สิบแปดนี้ จัดเป็นเจ็ดหมู่ย่อยประจำในสี่หมวดใหญ่ตามตำแหน่งเหนือใต้ออกตก และมีมังกรเขียว หงส์แดง พยัคฆ์ขาว เต่าดำ เป็นสี่เทพพิทักษ์ประจำหลักทั้งสี่ ซึ่งมังกรเขียวจะประจำอยู่ทิศตะวันออก หงส์แดงทิศใต้ พยัคฆ์ขาวทิศตะวันตก เต่าดำทิศเหนือ พอมาถึงสมัยฉินและฮั่น เทพอสูรทั้งสี่ถูกเพิ่มดีกรีความน่าอัศจรรย์ขึ้นเรื่อยๆ
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府