เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:หนึ่งปีผ่านไปไวดั่ง "หนึ่งก้านธูป" !
  2012-02-03 16:23:59  cri

ความสนุกสนานรื่นเริง เฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ได้เวียนมาบรรจบและผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วอีกปีหนึ่งแล้ว พาลให้อดคิดไม่ได้ว่าเวลาหนึ่งปีนี่มันช่างผ่านไปไวเหมือนหนึ่งก้านธูปเสียจริงๆ ซึ่งเวลาหนึ่งก้านธูปที่ว่านี้ หากใครที่เป็นคอหนังจีนกำลังภายในน่าจะต้องนึกคุ้นภาพคุ้นตากันดี กับฉากปะทะฝีมือประลองกำลังภายในของตัวละครสองฝ่าย ที่จะอาศัยเวลาหนึ่งก้านธูปเป็นตัวกลางสำคัญในการกำหนดช่วงเวลา

และแม้ว่าคนจีนสมัยโบราณจะมีการจับคำนวณเวลาด้วยเครื่องมืออุปกรณ์อื่นๆ อีก อาทิ นาฬิกาแดดยื่อกุ่ย นาฬิกาน้ำโล่วหู แต่การบอกเวลาด้วยธูปหนึ่งดอกก็ถือได้ว่าเป็นที่แพร่หลายสุด เพราะมีความสะดวกและง่ายดาย แต่เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง กำลังแรงลม ความสั้นยาวของธูป ความชื้นและปัจจัยแวดล้อมอื่นที่ต่างกัน ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งผลต่ออัตราการเผาไหม้เร็วช้าของธูป ทำให้ระยะเวลาหนึ่งก้านธูปมีความสั้นยาวแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าเวลาหนึ่งก้านธูปที่ว่านี้ เทียบได้กับหนึ่งชั่วโมงของเวลาปัจจุบันนั่นเอง

นาฬิกาแดด "ยื่อกุ่ย" และนาฬิกาน้ำ "โล่วหู"

นาฬิกาแดด "ยื่อกุ่ย" ที่ด้านบนของแป้นจานทรงกลมนั้น จะถูกแบ่งออกเป็น 12 ช่วง(หนึ่งช่วงเทียบเท่ากับเวลาสองชั่วโมงของปัจจุบัน) 96 ขีด เมื่อแสงอาทิตย์ส่องมากระทบแท่งเข็มที่ปักไว้ตรงกลาง ก็จะเกิดเงาปรากฏทาบไปบนเส้นขีดที่อยู่รอบจาน ซึ่งที่กรุงปักกิ่งได้มีการจัดแสดงของจริงไว้ให้ชมที่พระราชวังกู้กง และท้องฟ้าจำลอง(เทียนเหวินกว่าน) แต่เพราะนาฬิกาแดดติดปัญหาตรงที่ว่า หากเป็นวันที่ฟ้าครึ้มยามไม่มีแดดก็จะใช้ดูเวลาไม่ได้ ดังนั้น นาฬิกาน้ำ "โล่วหู" จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญ

นับจากราชวงศ์โจวเป็นต้นมา ชาวจีนก็ได้รู้จักใช้นาฬิกาน้ำ "โล่วหู" เป็นตัวบอกเวลากันแล้ว โดยอาศัยถังน้ำเจาะรูให้น้ำไหลออกได้ พร้อมจัดวางภาชนะรองรับน้ำด้านล่าง ที่จะมีไม้ไผ่ขีดเส้นแบ่งบอกเวลาเสียบปักอยู่ด้วย เมื่อน้ำจากถังไหลออกตามท่อลงมายังภาชนะรองรับ ระดับน้ำที่สูงขึ้นเรื่อยก็จะไต่ระดับตามเส้นขีดบนไม้ไผ่ทำให้สามารถรู้เวลาได้ ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนเป็นวัสดุที่ทำจากทองแดงแทน และในสมัยหยวน(ค.ศ. 1206-1368) ยังมีนักดาราศาสตร์ชื่อดังคนสำคัญท่านหนึ่งนามว่า "กัวโส่วจิ้ง" ได้คิดประดิษฐ์ตู้กันลม "ผิงเฟิงเซียงโล่ว" ทำให้มีความแม่นยำในการบอกเวลามากขึ้น ด้วยการดูอัตราการเผาไหม้เร็วช้าของธูป มาเป็นตัวกำหนดเส้นขีดบอกเวลาบนก้านธูป ทำให้การใช้งานตู้กันลมนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่คนทั่วไปไม่น้อย

ตู้กันลม "ผิงเฟิงเซียงโล่ว" ของกัวโส่วจิ้ง

ที่ถูกสร้างจำลองขึ้นใหม่โดยสถาบันวิจัยเมืองซูโจว

ส่วนการกำหนดบอกเวลาด้วยธูป นอกเหนือจากการใช้ธูปก้านตรงๆ ทรงธรรมดาแล้ว คนจีนในสมัยโบราณยังนิยมใช้ "เซียงจ้วน" หรือธูปอัดบล็อคพิมพ์เป็นตัวหนังสือจีนหรือรูปทรงต่างๆ เพิ่มลูกเล่นให้กับการจุดธูป เช่น ในยุคสมัยถัง(ค.ศ.618-907) และซ่ง(ค.ศ.960-1279) ก็ได้มีการนำธูปเครื่องหอมมาป่นเป็นผงโรยใส่บนจานแม่พิมพ์ทองแดงเป็นตัวอักษรคำว่า 心(ใจ) พอจุดไฟที่ปลายข้างหนึ่งธูปก็จะลุกไหม้ไล่ต่อเนื่องตามคำตัวหนังสือเรื่อยไปจนหมด ใช้แทนการจับกำหนดเวลาได้เหมือนกัน และยังมี "ไป่เค่อเซียง หรือธูปร้อยขีด" ที่ทางวัดวาอารามนิยมใช้เป็นตัวบอกแสดงเวลา โดยกำหนดให้หนึ่งกลางวันกลางคืนเท่ากับหนึ่งร้อยขีดบนเซียงจ้วน

บล็อคพิมพ์ "เซียงจ้วน" ใช้ในการอัดธูปให้ออกมาเป็นรูปลักษณ์สวยงามแบบต่างๆ

เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040