ควรจะเก็บค่าจราจรติดขัดหรือไม่ ? (2)
  2013-10-14 17:04:10  cri

มาตรการอย่างการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดนั้นจะมีประสิทธิผลมากน้อยแค่ไหน ยังเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอน ปัจจุบัน ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะยังไม่สมบูรณ์แบบ การยับยั้งการพัฒนารถยนต์ส่วนตัวโดยอาศัยการเก็บค่าธรรมเนียมนั้น อาจจะทำลายระบบขนส่งในเมืองได้ อีกด้านหนึ่ง การจราจรติดขัดนี้ทำให้ผู้คนต้องเพิ่มต้นทุนการเดินทางที่เป็นภาระหนักอยู่แล้ว หากเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษอีกก็เป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมและไม่เหมาะสม

ชาวเน็ตรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า ภาษี ประกันชนิดต่างๆสำหรับรถยนต์ของตนจ่ายครบแล้ว ขณะขับรถไปบนทาง เจอรถติด ผู้ขับต้องเสียทั้งน้ำมันและเวลา รัฐบาลไม่ให้การชดเชย กลับยังเก็บค่าจราจรติดขัดอีก นี่เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือ?

ชาวเน็ตอีกรายแสดงความคิดเห็นว่า สิ่งสำคัญไม่อยู่ที่ว่าควรจะเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษหรือไม่ หากอยู่ที่แนวคิดและระดับศีลธรรมของผู้ขับ ฮ่องกงเป็นเมืองเล็ก ถนนแคบและเก่าแก่กว่าปักกิ่งเยอะ รถยนต์ก็มีจำนวนมากเหมือนกัน แต่สภาพจราจรดีกว่าของปักกิ่งอีก ต้องยกระดับการศึกษาของประชาชนให้สูงขึ้นจึงจะสามารถแก้ปัญหาการจราจรติดขัดได้อย่างแท้จริง

สำหรับความเป็นไปได้ของการปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าว ก็มีการถกเถียงกันมากเช่นกัน ศาสตราจารย์เจี่ย ซุ่นผิง ของมหาวิทยาลัยการคมนาคมปักกิ่งกล่าวว่า มาตรการนี้น่าจะได้รับการปฏิบัติได้ แต่ต้องการการสนับสนุนทางนโยบายที่เกี่ยวข้อง ในเมืองใหญ่ๆอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างตง รถยนต์ส่วนตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว การขยายหรือสร้างถนนหนทางใหม่เป็นเรื่องที่ยากจะทำ การเก็บค่าจราจรติดขัดนั้นคงเป็นวิธีการที่มีประสิทธิผล แต่ควรจัดตั้งระบบการปฏิบัติทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อน เพื่อบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนผู้เชี่ยวชาญอีกจำนวนหนึ่ง อย่างศาสตราจารย์หลิว เหว่ยหมิง ของมหาวิทยาลัยหวาหนานหลี่กงมีข้อสังสัยต่อเรื่องนี้ โดยระบุว่า การเผยแพร่มาตรการเก็บค่าจราจรติดขัดในเมืองใหญ่อย่างกว้างขวางนั้น ยังต้องเผชิญกับปัญหาที่เป็นรูปธรรมต่างๆ หากให้พนักงานเก็บตามถนน จะทำให้เกิดการติดขัดร้ายแรงยิ่งขึ้นอีก แต่หากเก็บโดยอัตโนมัติด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ อาจเกิดปัญหาไม่โปร่งใส และจะจัดสรรค่าธรรมเนียมการจราจรติดขัดที่จัดเก็บมาเหล่านี้อย่างไร ยังต้องพัวพันด้านกฎหมายจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

อันที่จริง หลายประเทศมีประสบการณ์ในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งประเทศจีนสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาได้อย่างดี อาทิ สิงคโปร์ประกาศใช้มาตรการเก็บค่าจราจรติดขัดตั้งแต่ปี 1975 ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ใช้มาตรการดังกล่าว โดยกำหนดว่า พื้นที่ใจกลางเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดเป็นเขตควบคุมการจราจร หากรถยนต์ที่มีความจุไม่ถึง 4 คนเข้าเขตดังกล่าวในช่วงที่กำหนด ต้องมีใบอนุญาตที่ซื้อไว้ ยกเว้นรถเมล์ รถพยาบาล รถดับเพลิง รถตำรวจ และรถแท๊กซี่

ที่กรุงลอนดอน การเก็บค่าจราจรติดขัดในใจกลางเมืองได้ประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2003 หลังจากประกาศใช้มาตรการดังกล่าว รถยนต์ขนาดเล็กที่เข้ามาย่านใจกลางเมืองลดลง 20-30% ทุกวัน และรถเมล์สามารถเพิ่มความเร็วการวิ่งได้สูงขึ้น 25%

ส่วนในนครนิวยอร์ค วันที่ 31 มีนาคม ปี 2008 ทางการนิวยอร์คผ่านมติเก็บค่าธรรมเนียมจราจรติดขัดในเขตแมนฮัตตัน โดยระบุว่า ในพื้นที่กำหนดไว้ระหว่าง 6.00-18.00 น.ของทุกวัน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลต้องเสียค่าใช้จ่ายพิเศษ 8 ดอลลาร์ต่อวัน รถบรรทุก 21 ดอลลาร์ต่อวัน และรถแท๊กซี่จ่ายค่าพิเศษ 1 ดอลลาร์ต่อวัน

ประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาสำหรับชาวจีน และประสบการณ์ของเมืองใหญ่ต่างๆทั่วโลกยืนยันได้ว่า ไม่ว่าจะใช้มาตรการอย่างไร ขอแต่ให้มีระบบการขนส่งสาธารณะที่ดี ผู้คนที่มีรถส่วนตัวหรือไม่มีรถส่วนตัว ต่างก็ยินดีใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นวิธีการเดินทางในชีวิตประจำวัน ระบบการคมนาคมในเมืองจึงดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูง

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
ตอบคำถามออนไลน์
ทบทวนรายการน่าสนใจ
ภาพยอดฮิต
เว็บไซต์ึเพื่อนซีอาร์ไอ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Play Stop
© China Radio International.CRI. All Rights Reserved.
16A Shijingshan Road, Beijing, China. 100040