สมัยโบราณสังคมจีนยังไม่เปิดกว้าง คนหนุ่มสาวจะบอกรักกันตรงๆ ไม่ได้ ต้องบอกผ่านสายลมแสงแดดแฝงไปในบทกวีแทน เพราะฉะนั้นจะสื่อให้ชัดให้มัดใจกันได้ชัวร์ ควรต้องมีอะไรที่จับต้องเอาไว้ให้คิดถึงแทนตัวได้ด้วยถึงจะดี ซึ่ง "เชือกถัก" เป็นอีกหนึ่งของสื่อรักมัดใจเอาไว้มอบให้กัน
จงกั๋วเจี๋ย หรือศิลปะการถักเชือกของจีน เป็นงานหัตถกรรมที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ความเป็นจีนแรกเริ่มมีขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก คือใช้มัดปมเย็บเครื่องนุ่งห่มในยุคหินเก่า แล้วค่อยๆ เพิ่มบทบาทมากขึ้น ทั้งเป็นตัวช่วยในการจดบันทึก และพัฒนารูปแบบความซับซ้อนจนกลายเป็นเครื่องประดับตกแต่ง
ในสมัยราชวงศ์โจว(1,066 - 256ปีก่อนค.ศ.) จะมีการถักเชือกเงื่อนแบบต่างๆ เป็นเครื่องตกแต่งสำหรับห้อยหยกพกด้วย ความนิยมมีต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงราชวงศ์ชิงการถักเชือกก็กลายเป็นศิลปะพื้นบ้านที่แพร่หลายทั่วไป ด้วยภาพลักษณ์ที่สวยงามสมดุลและผูกพันกับชีวิตผู้คนมาแต่เก่าก่อน จึงเป็นอีกหนึ่งของสื่อแทนใจของหนุ่มสาวจีนในโบราณด้วย
ให้เงื่อนสื่อความนัย แทนใจที่รู้สึก
โดยคำว่า เจี๋ย(结) ที่หมายถึง ถัก หรือผูกเงื่อน ถูกนำมาสร้างเป็นคำที่เกี่ยวพันกับความรู้สึกทางใจที่หลากหลาย อาทิ คำว่าแต่งงาน คือ "เจี๋ยฮุน" หากเป็นความผูกพันลึกซึ้งแบบมิตรสหาย อย่างในเรื่องสามก๊กที่ เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ผูกสาบานเป็นพี่น้องกัน คือ "เจี๋ยอี้" หรือ "เจี๋ยไป้" เป็นต้น ซึ่งศิลปะการถักเชือกของจีน เงื่อนหลากแบบเหล่านี้ล้วนแฝงความหมายดีมีมงคล โดยเงื่อนจีนที่เห็นทั่วไปอันที่จริงแล้วก็คือ "เงื่อนถงซินเจี๋ย" ที่หมายถึงว่ามีใจเป็นหนึ่งเดียวกัน เพราะเป็นการนำปลายเชือกสองข้างมาสอดเกี่ยวพันกัน จึงเป็นสัญลักษณ์แทนความว่าให้รักใคร่กลมเกลียวกันตลอดไป ถูกนำมาใช้ในงานแต่ง โดยเป็นเงื่อนปมบนผืนผ้าแดงที่บ่าวสาวถือจับคนละข้าง โยงสองคนเชื่อมต่อกันระหว่างประกอบพิธีแต่งงานตามธรรมเนียมจีนโบราณ
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府
ลิงค์เกี่ยวข้องเพิ่มเติม
เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:ถักเชือกทอจีน "จงกั๋วเจี๋ย"
http://thai.cri.cn/247/2011/12/27/242s193307.htm
เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา: ผูกด้ายแดง" ควงแขน "ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์"
http://thai.cri.cn/247/2012/02/14/225s194836.htm
เก่าเล่าไป ใหม่บอกมา:สมรส สมรัก