การได้อาศัยอยู่ในเมืองที่ได้ชื่อมีความสุขที่สุดย่อมเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายๆคน แต่การจัดอันดับเมืองที่มีความสุขที่สุดของจีนในครั้งนี้นั้น ไม่ใช่การวัดกันด้วยค่าจีดีพีอีกต่อไป เนื่องจากผลที่ได้จากการสำรวจจัดอันดับการมีความสุขของชาวเมืองครั้งนี้ ไม่ได้สัมพันธ์กับกำลังทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด สามเมืองใหญ่ที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีนอย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว กลับไม่มีชื่อติดอยู่หนึ่งในสิบอันดับเมืองที่มีความสุขนี้ด้วย
สถานีโทรทัศน์ส่วนกลางแห่งประเทศจีน(ซีซีทีวี) ช่องเศรษฐกิจและการเงิน ร่วมกับศูนย์ตรวจสอบความมั่นคงทางเศรษฐกิจชาติสังกัดสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน สถาบันวิจัยการพัฒนาชาติมหาวิทยาลัยปักกิ่ง และองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญ จัดทำแบบสำรวจสอบถามและรวบรวมผลสถิติ ภายใต้หัวข้อการสำรวจ "ความรู้สึกเป็นสุขของผู้อยู่อาศัย" ที่คลอบคลุมประชากร 1 แสนครัวเรือนใน 300 อำเภอ 104 เมืองทั่วประเทศ ซึ่งผลสำรวจสรุปได้ว่า "สิบอันดับเมืองเอกที่มีความสุขของจีน" ได้แก่ เมืองลาซ่า(เขตปกครองตนเองทิเบต) เมืองไท่หยวน(มณฑลซานซี) เมืองเหอเฟย(มณฑลอันฮุย) นครเทียนจิน เมืองฉางซา(มณฑลหูหนาน) เมืองหูเหอฮ่าวเท่อ(เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน) เมืองสือเจียจวง(มณฑลเหอเป่ย) เมืองจี่หนาน(มณฑลซานตง) เมืองอิ๋นชวน(เขตปกครองตนเองชนชาติหุยหนิงเซี่ย) และนครฉงชิ่ง ตามลำดับ
ส่วน "สิบอันดับเมืองเอกที่มีเวลาว่างผ่อนคลายของจีน" ได้แก่ เมืองกุ้ยหยาง(มณฑลกุ้ยโจว) เมืองไหโข่ว(มณฑลไห่หนาน) เมืองกว่างโจว(มณฑลกว่างตง) เมืองหังโจว(มณฑลเจ้อเจียง) เมืองลาซ่า(เขตปกครองตนเองทิเบต) เมืองเฉิงตู(มณฑลซื่อชวน) นครฉงชิ่ง เมืองไท่หยวน(มณฑลซานซี) เมืองฝูโจว(มณฑลฝูเจี้ยน) และเมืองฉางซา(มณฑลหูหนาน) ตามลำดับ
จากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า การที่กลุ่มสำรวจมีเวลาว่างผ่อนคลายได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลมีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 1 แสนหยวน โดยพบว่าในกลุ่มผู้รายได้น้อยต่ำกว่า 2 หมื่นหยวนต่อปี 12.01% ไม่มีเวลาว่าง และที่มีเวลาว่างส่วนใหญ่มีเพียง 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ในทางกลับกันในกลุ่มคนที่มีรายได้ต่อปี 1 แสนหยวนขึ้นไปนั้น มีเพียง 5.87% ที่ไม่มีเวลาว่าง และส่วนใหญ่มีเวลาว่าง 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนที่มีเวลาว่างมากกว่า 3 ชั่วโมงขึ้นไปมีสูงถึง 33.87% โดยกิจกรรมยามว่างส่วนใหญ่หมดไปกับการเล่นอินเตอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ มีเพียงส่วนน้อยที่เลือกไปสมัครคอร์สเรียนอบรมเพิ่มเติม ออกกำลังเล่นฟิตเนส หรือทำกิจกรรมสันทนาการกับเพื่อนฝูง
โดยในการทำสำรวจครั้งนี้ 70% ของกลุ่มสำรวจเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 5 หมื่นหยวน จึงกล่าวได้ว่า คนส่วนใหญ่ยังต้องผจญอยู่กับการเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่าง "เงินกับเวลาว่าง" คือ ถ้ามีเงินก็จะไม่มีเวลาว่าง ถ้ามีเวลาว่างก็จะไม่มีเงินนั่นเอง ซึ่งจากผลการสำรวจระบุว่าเมืองที่มีเวลาว่างและรู้สึกว่ามีความสุขดีมีอยู่ 4 เมือง ได้แก่ เมืองลาซ่า นครฉงชิ่ง เมืองไท่หยวน และเมืองฉางซา
และในส่วนของปัจจัยสำคัญใดส่งผลกระทบต่อการมีความสุขของชาวเมืองนั้น ผลที่ได้จากการสำรวจระบุว่า อันดับหนึ่ง คือ เรื่องของอัตรารายรับ 55.53% อันดับสองคือ เรื่องของสุขภาพ 48.91% และอันดับสาม คือ ชีวิตสมรส ครอบครัว หรือในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก 32.09% โดย 44.6% ของกลุ่มสำรวจที่ตอบว่าตนเองมีความสุขดี และ 13.33%ของกลุ่มสำรวจที่รู้สึกว่าตนมีความสุขมากนั้น กลุ่มคนเหล่านี้ คือ กลุ่มที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ ครอบครัวมีรายรับเกินกว่าหนึ่งแสนหยวนต่อปี และมีเวลาว่างมากกว่า 4 ชั่วโมงต่อวันนั่นเอง โดยจะใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการเล่นอินเตอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ หรือเดินเล่นชอปปิ้ง ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อความสุขของคนกลุ่มนี้ คือ เรื่องของการประกันทางสังคม การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และเรื่องของสุขอนามัยสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ แม้ว่ารายรับของชาวเมืองในเมืองใหญ่อย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจวจะสูง แต่เพราะค่าครองชีพที่สูงตามไปด้วยนั้นเอง น่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกไม่มีความสุข และไม่มีรายชื่อติดโผอยู่ในสิบอันดับดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนต่างถิ่นที่ต้องมาเช่าห้องพักอาศัยอยู่ ที่แม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นให้ทุกปี แต่ค่าเช่าก็ปรับขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน และเนื่องเพราะความคิดของคนส่วนใหญ่ที่ว่าการมีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเอง จึงจะทำให้รู้สึกปลอดภัยและเป็นสุข ดังนั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ทั้งหลายจึงตกอยู่ในสถานะเป็น "ทาสบ้าน" ทำให้ชาวเมืองหลายคนตอบไม่ได้เต็มปากว่าตนเองอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีความเจริญ มีรายได้สูงกว่านั้น มีความสุขดีใช่หรือไม่
เก่าเล่าไปใหม่บอกมา โดย วังฟ้า 羅勇府