ส่วนในประเทศจีน เมื่อปี 2007 นครเซี่ยงไฮ้ได้เริ่มทดลองนำรูปแบบ "บ้าน"สงเคราะห์คนชราแบบนี้มาใช้ คือ ให้คนชราที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขายบ้านของตนให้แก่ศูนย์ควบคุมกองทุนนครเซี่ยงไฮ้ โดยให้คนชราอาศัยในบ้านเดิมของตนได้ต่อไปจนกระทั่งถึงแก่กรรม ส่วนเงินที่ขายบ้านได้นั้นนอกจากหักค่าเช่าและค่าทำธุรกรรมการซื้อขายแล้ว ส่วนที่เหลือจะให้คนชราเก็บไว้ใช้ตามความสมัครใจ แต่การทดลองดังกล่าวนี้ไม่ได้ทำต่อเนื่องกัน และได้หยุดไปแล้ว
แต่แม้ว่าการทดลองในนครเซี่ยงไฮ้นี้ได้หยุดไป แต่ในเมืองระดับกลางและใหญ่เมืองอื่นๆ ของจีนอย่างเช่น กรุงปักกิ่ง ก็มีสถาบันการเงินบางแห่งได้ทยอยประกาศรูปแบบการใช้ "บ้าน"สงเคราะห์คนชราแบบให้เงินกู้นี้ ซึ่งทำให้รูปแบบการใช้บ้านสงเคราะห์คนชราเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนปฏิบัติการ
สาเหตุที่รูปแบบการใช้ "บ้าน"สงเคราะห์คนชรากลายเป็นที่สนใจมีด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก จีนได้ดำเนินนโยบายครอบครัวลูกคนเดียวมากว่า 30 ปี สามีภรรยาคู่หนึ่งต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ของตนกับพ่อแม่ของคู่สมรสรวม 4 คน นับว่ามีแรงกดดันในการเลี้ยงดูคนชรา ประการที่สอง พร้อมๆ กับความก้าวหน้าในการรักษาพยาบาลที่มีการปรับปรุงพัฒนาดียิ่งขึ้น อายุของคนชรายืนยาวมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในวัยชราก็เพิ่มมากขึ้น ประการที่สาม เนื่องจากราคาบ้านพักของชาวเมืองสูงขึ้นเรื่อยๆ สภาวะทางเศรษฐกิจของครอบครัวที่มีรายได้ระดับกลางของจีน ได้นำเงินของตนส่วนใหญ่ใช้เพื่อซื้อบ้านที่มีราคาสูงมากจึงไม่มีเงินเหลือ
การใช้ "บ้าน"สงเคราะห์คนชราได้ทำให้บ้านพักที่อาศัยอยู่กลายเป็นเงินสดที่มีมาอย่างมั่นคงและถาวร สนองความต้องการของการดำรงชีวิตและการรักษาพยาบาลของคนชรา ได้แบ่งเบาภาระให้กับลูกหลาน
บางคนเห็นว่า การใช้ "บ้าน"สงเคราะห์คนชราเหมาะกับสภาพ เพราะว่าปัจจุบันในประเทศจีน คนชราส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึงการซื้อประกันผู้สูงอายุ แต่กลับได้ซื้อบ้านไว้หลายชุด ซึ่งการเลือกเอาชุดหนึ่งมาแก้ไขปัญหาสงเคราะห์คนชราก็นี้จะเป็นเรื่องที่ดี
มีตัวอย่างที่ดีของคู่สามีภรรยาคู่หนึ่ง นายจาง กว่างจู้ กับนางหวัง จงจินเป็นคู่สามีภรรยาธรรมดาๆ คู่หนึ่งที่อาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่ง นายจาง กว่างจู้อายุ 64 ปี นางหวัง จงจินอายุ 61 ปี ได้ขายบ้านของตนเมื่อปี 2008 แล้วนำเงินเดินทางไปเที่ยวหลายสิบประเทศทั้งยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้ เมื่อเล่าถึงประสบการณ์ท่องเที่ยวในต่างประเทศของตน เสียงหัวเราะจะเป็นสิ่งที่ขาดเสียมิได้ในการเล่า แสดงออกถึงการมีความสุขเป็นอย่างมาก
เมืองกว่างโจวได้จัดทำสำรวจประชามติทางอินเตอร์เน็ตในหัวข้อว่า "เมืองกว่างโจวดำเนินการใช้ "บ้าน"สงเคราะห์คนชราดีหรือไม่" เนื่องจากชาวเน็ตส่วนใหญ่เป็นคนวัยรุ่น ผู้ที่ร่วมแสดงความคิดเห็นจึงเป็นกลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่ ซึ่งมีผู้ที่เห็นด้วย 45.24% หนุ่มจางพนักงานรัฐวิสาหกิจให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ก่อน 60 ปีคือคนเลี้ยงบ้าน หลัง 60 ปีแล้วขอให้บ้านเลี้ยงคน
แต่ก็มีเสียงคัดค้านเช่นกัน มีคนเห็นว่า ชาวจีนได้ปฏิบัติตามแนวคิดที่ว่า "เลี้ยงลูกเพื่อให้สงเคราะห์ในวัยชรา" ซึ่งกลายเป็นความคิดที่สืบทอดมาพันปี คงยากที่จะคิดยอมรับการใช้ "บ้าน"สงเคราะห์คนชรา คนชราจีนมักต้องการจะใช้ชีวิตยามแก่ชรากับลูกหลาน จึงมีคนชราจำนวนมากไม่อยากไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์คนชรา และยิ่งยากที่จะยอมรับรูปแบบที่ว่า การใช้บ้านสงเคราะห์คนชรา
เนื่องเพราะคนชราขยันทำงาน ทรัพย์สินที่เก็บออมไว้นั้นก็อยากเก็บไว้ให้ลูกหลาน ซึ่งรวมทั้งบ้านพักด้วย ส่วนลูกหลานก็จะเลี้ยงดูคนชราซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นเรื่องถูกต้องตามหลักศีลธรรมและกฎหมาย หากอยากลองใช้รูปแบบบ้านสงเคราะห์คนชรา ยังต้องใช้เวลาไม่น้อยในการเปลี่ยนแปลงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสงเคราะห์คนชรา
คนที่ไม่เห็นด้วยกับรูปแบบนี้เป็นคนชราส่วนใหญ่ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ผู้สื่อข่าวได้ออกไปสัมภาษณ์ผู้สูงอายุ ผลปรากฎว่า มี 90% ไม่เห็นด้วย เพราะรู้สึกว่าบ้านพักของตนอยู่อาศัยผูกพันมาตั้งนาน ไม่อยากจะขายไป อยากเก็บไว้ให้ลูกหลาน
ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ในประเทศกำลังพัฒนา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่ค่อยมั่นคง หากตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดสภาพราคาลดลงอย่างฮวบฮาบ สถาบันการเงินจะขาดทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ "บ้าน"สงเคราะห์คนชรา
นอกจากนี้ การใช้ "บ้าน"สงเคราะห์คนชราจะเกี่ยวพันถึงปัญหาเศรษฐกิจของอสังหาริมทรัพย์ ง่ายที่จะเกิดข้อขัดแย้งกัน จึงต้องการให้รัฐกำหนดกฎหมายข้อบังคับที่สมเหตุสมผล เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้รูปแบบบ้านสงเคราะห์คนชรา
อย่างไรก็ตาม ในประเทศที่มีอัตราส่วนผู้สูงอายุเพิ่มมากยิ่งขึ้น การเลือกใช้รูปแบบบ้านสงเคราะห์คนชรานั้น ยังต้องใช้เวลาอีกนานเพื่อปรับแก้ไขปัญหาต่างๆ
(Yim/zheng)