ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว ที่ได้กล่าวถึงความฝัน ความหวังของวัยหนุ่มสาวจีนโดยการรวบรวมผ่านกิจกรรมที่ได้สะท้อนความคิดของพวกเขาออกมาได้จากตัวตน อาชีพและแหล่งที่พักอาศัย ดังนี้
6) นางหลัว เจิ้ง ชุ่ย อายุ 30 ปี อาชีพ ชาวนาในมณฑลยูนนาน "หลังจากดูโทรทัศน์อย่างสนุกสนาน แล้วพบว่า สิ่งที่เห็นในนั้น ฉันไม่สามารถซื้อหามาใช้ได้เลย"
7) นายเฟิ่ง หลง อายุ 21 ปี อาชีพ ช่างทาสีในนครเซียงไฮ้ และเป็นครั้งแรกของการเป็นแรงงานย้ายถิ่นในเมืองใหญ่ "ทำไมบริษัทใหญ่ๆ โรงงานดีๆ ไม่ไปตั้งตามชนบทบ้าง ผมไม่อยากเป็นแรงงานย้ายถิ่น"
8) นส. กวน หยิง อายุ 25 ปี อาชีพ ผู้ควบคุมระบบคอมพิวเตอร์ในนครเซียงไฮ้ "เมืองใหญ่ควรจะเดินช้าลงบ้าง และเขตชนบทควรเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้น"
9) นายลี่ จุง อายุ 25 ปี อาชีพ ไกด์ท้องถิ่นในมองโกเลียใน " ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผมสามารถทำงานหาเลี้ยงปากท้องตัวเองและครอบครัวได้ ยังคงวิถีชาวมองโกเลียในได้ และอยากให้เป็นอย่างนี้ตลอดไป"
10) นายหยวน เฟย อายุ 27 ปี อาชีพ นักศึกษาปริญญาโท สาขาปรัชญาและเจ้าของร้านงานฝืมือท้องถิ่นในมณฑลซานซี "อยากให้มีความอิสระมากกว่านี้"
หลังจากเสร็จสิ้นการเดินทางและกิจกรรม ฟิคส์ได้แสดงความคิดเห็นว่า "ถึงแม้ประเทศจีนและอินเดียจะมีชายแดนติดกัน รวมทั้งเป็นประเทศใหญ่ที่มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจ มีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่หนุ่มสาวของทั้งสองประเทศต่างมีความเข้าใจและรู้จักกันน้อยมาก" สำหรับมุมมองเกี่ยวกับวัยหนุ่มสาวนั้นก็แตกต่างกันด้วย ในประเทศจีนเอง ต้องถือว่าวัยหนุ่มสาวมีโอกาสและช่องทางมากและหลากหลายกว่าอินเดีย อาจจะเป็นเพราะว่า แรงกดดันด้านต่างๆ น้อยกว่าอินเดีย แต่สิ่งที่วัยหนุ่มสาวของสองประเทศที่ต้องเผชิญเหมือนกันนั่นคือ ปัญหาคอรัปชั่นและความยากจนนับวันยิ่งขยายและทวีความรุนแรงมากขึ้นทั่วประเทศ
ไม่ว่าจะมีแรงกดดันมากหรือน้อยเพียงใด หากไม่มีพื้นที่ให้วัยหนุ่มสาวแสดงออกถึงความคิดเห็นและความรู้สึก ก็อาจจะนำพาการสั่นสะเทือนบางอย่างให้กับสังคมได้ แต่ในประเทศจีนนั้นมีไมโครบล๊อคที่เรียกว่า "เว่ยโป๋ว" ซึ่งมียอดผู้ใช้ถึงห้าร้อยล้านคนต่อเดือน ผู้คนเหล่านี้จะเข้ามาอัพเดตเรื่องราว ความรู้สึก ความคิดเห็นของตนสำหรับเรื่องต่างๆ ในสังคมอย่างถึงพริกถึงขิงแต่ก็อยู่ภายใต้กลไกการควมคุมไอซีทีที่จะไม่ให้เกิดกรณีละเมิดหรืออาชญากรรมทางไซเบอร์ได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ก็มองเห็นว่า นี่ถือเป็นแหล่งการระบายออกและพื้นที่ทางความคิดที่ดีมากสำหรับวัยหนุ่มสาว เป็นช่องเดียวในเวลานี้ที่จะได้ยินเสียงจริงๆ จากพวกเขาว่า ต้องการและมีความฝันอะไรบ้าง
หากเปิดพื้นที่และหันมารับฟังเสียงนี้มากขึ้น และนำไปปรับในการจัดระเบียบให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมนั้นๆ ก็จะยิ่งทำให้บรรลุความฝันอันสูงสุดของประชาชาติได้ในเร็ววันโดยใช้ความฝันและความเชื่อมั่นของวัยหนุ่มสาวนำทาง
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์
หมายเหตุ ข้อมูลอ้างอิงและเรียบเรียงจากคอลัมน์ Photo Essay จาก นิตยสาร Beijing that's ประจำเดือนมิถุนายน 2013
และสามารถติดตามอ่านย้อนหลัง https://thai.cri.cn/247/2013/06/13/102s210777.htm ปักกิ่งเพลินเพลิน "เสียงเพรียกหา The China Dream จากมุมมองหนุ่มสาวจีน (1)"