เมื่อวันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเกียรติจากสมาคมมิตรสัมพันธ์ชาวต่างชาติแห่งกรุงปักกิ่งให้เข้าร่วมทริปเยี่ยมและดูงานพร้อมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสถานทูตอาเซียนไปเยี่ยมชมดูงานที่อำเภอแถบชานเมืองหรือคนจีนมักจะเรียกเขตชนบทของกรุงปักกิ่งนี้มีชื่อว่า "เหยียนชิ่ง" ถือเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งประมาณ 80 กิโลเมตรหรือใช้เวลาการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง อำเภอนี้ล้อมรอบด้วยเทือกเขาเขตปาต๋าหลิ่งหรือเป็นอีกจุดชมกำแพงเมืองจีนที่มีชื่อเสียงที่สุด มองเห็นกำแพงเมืองจีนอยู่สันเขาไกลๆ ตัดกับสีของท้องฟ้าอย่างลงตัวและสวยงาม
การเยี่ยมและดูงานครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมของสมาคมมิตรสัมพันธ์ชาวต่างชาติแห่งกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ได้รับการรับรองจากทางการกรุงปักกิ่งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่ดูแล แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสร้างความสัมพันธ์ฉันมิตรกับชาวต่างชาติที่มาทำงานในระดับสูงและอาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่ง อีกทั้งยังมีกิจกรรมเพื่อให้ชาวต่างชาติได้มาพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันเป็นประจำ
จุดนัดพบของชาวคณะเดินทางครั้งนี้อยู่ที่หน้าโรงแรมเซนท์ รีจีส ตั้งอยู่ใจกลางกรุงปักกิ่งและใกล้กับเขตสถานทูต เนื่องจากผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่นั้นเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสถานทูตอาเซียนจากลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และติมอร์เลสเต้ ประเทศน้องใหม่ของอาเซียน ส่วนทางสื่อมวลชนที่ได้รับเกียรติร่วมทริปนี้มาจากประเทศไทยและกัมพูชา หลังจากทุกคนมากันครบแล้ว ทางผู้ดูแลจากสมาคมฯ ก็ได้เชิญขึ้นรถและแจกเอกสาร ตารางการเยี่ยมและดูงานต่างๆ ให้รับทราบกันถ้วนหน้า จากนั้นได้พาไปแวะทักทายเจ้าหน้าที่ของสมาคมฯที่สำนักงานใหญ่ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลนัก
รูป A บรรยากาศในเขตท่องเที่ยวของเหยียนชิ่ง
ต่อมา รถบัสขนาดกลางก็มุ่งหน้าสู่วงแหวนรอบนอกและต่อด้วยทางด่วนไฮเวย์ทันที จนเวลาผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง ก็พาบรรดาชาวคณะมาถึงหน้าที่ทำการอำเภอเหยียนชิ่ง ผู้เขียนค่อนข้างตกใจเล็กน้อยพราะสิ่งที่เห็นตรงหน้ามันไม่น่าจะเรียกว่าชนบทตามที่ชาวปักกิ่งเรียกได้เลย เพราะดูจากกับผังเมือง สถาปัตยกรรมอาคารต่างๆและความเจริญของเขตนี้ ออกแบบไว้อย่างลงตัวและเงียบสงบสวยงาม มีทะเลสาบใหญ่ถึง 2 แห่งอยู่กลางเขตฯ อาคารที่ทำการส่วนราชการก็ถูกออกแบบคล้ายกับตึกยุโรปโบราณ รวมทั้งอาคารที่พักอาศัยของประชาชนด้วย ทางเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้กล่าวว่า อำเภอเหยียนชิ่งยังถือว่าเป็นเมืองใหม่ เพราะทางการกรุงปักกิ่งได้จัดตั้งให้มีอำนาจในการบริหารเป็นอำเภอมาตั้งแต่ปี 1958 มีภูมิอากาศหนาวเย็น ค่อนข้างแห้งแล้งและยังตั้งอยู่ทางเหนือสุดของกรุงปักกิ่งซึ่งติดกับมณฑลเหอเป่ย และยังเป็นจุดพักการเดินทางก่อนไปชมกำแพงเมืองจีนช่วง"ปาต๋าหลิ่ง"ซึ่งเป็นจุดชมกำแพงเมืองจีนที่มีชื่อเสียงตั้งก็อยู่ในเขตนี้ จึงให้ทางการพิจารณาเห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาและเลือกให้เป็นเขตเศรษฐกิจนำร่องด้านผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่างๆ เช่น พืชผักปลอดสารต่างๆ ไร่องุ่น โรงงานผลิตไวน์ ไข่ไก่ ฯลฯ และยังให้เป็นการขยายเมืองสู่ชนบทเพิ่มเขตที่อยู่อาศัยให้มากขึ้นเพื่อให้ประชาชนเลือกที่จะอาศัยและประกอบอาชีพที่นี่โดยไม่ต้องไปทำงานในกรุงปักกิ่ง
รูป B คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสถานทูตอาเซียนกำลังเดินชมบริษัทเต๋อชิงหยวน
ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับไปทั่วจีนของที่นี่ได้แก่ "ไข่ไก่เต๋อชิงหยวน" และทางอำเภอก็ได้อำนวยความสะดวกให้คณะเข้าไปเยี่ยมชมดูงานถึงสายพานบรรจุไข่ไก่ก่อนส่งออกสู่ตลาดอีกด้วย บริษัทไข่ไก่นี้ใหญ่เป็นอันดับที่ 1 ของจีนและระดับเอเชีย อีกทั้งจัดเป็นอันดับที่ 6 ของโลกด้วย ระหว่างทางการเดินทางไปยังบริษัท ผู้เขียนได้ดูวิวทิวทัศน์สองข้างทางอย่างเพลิดเพลิน ช่วงนี้ยังเป็นฤดูหนาวและน้ำในทะเลสาบน้อยใหญ่กลายเป็นน้ำแข็ง กิจกรรมชาวบ้านท้องถิ่นที่นิยมกันมากคือ ออกมานั่งตกปลากลางน้ำแข็ง วิธีการตกปลาก็ดูง่ายๆ ไม่ซับซ้อน มีอุปกรณ์เจาะแผ่นน้ำแข็งเป็นวงกลม และหย่อนเบ็ดลงไปในน้ำเบื้องล่าง แค่นี้ก็ทำให้ชาวบ้านท้องถิ่นนั่งเพลินๆ ได้ตลอดวันแถมยังได้อาหารเย็นติดมือกลับบ้านอีกด้วย
พอถึงบริษัทไข่ไก่เต๋อชิงหยวนโดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทรอให้การต้อนรับ และนำเข้าไปยังห้องฆ่าเชื้อซึ่งอธิบายกับเราว่า ขอให้ยืนอยู่ในห้องนี้เป็นเวลาประมาณ 5 นาทีใต้แสงนีออนสีฟ้า ถือเป็นกฏระเบียบที่เคร่งครัดของบริษัทที่ไม่ต้องการให้แขกผู้เยี่ยมชมนำเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไปในฟาร์มซึ่งต้องดูแลเป็นพิเศษพร้อมทั้งต้องใส่ชุดกราวน์สีขาวคลุมทั้งตัวเพื่อรักษาความสะอาดอีกด้วย หลังจากนั้นก็พาไปนั่งชมวิดีโอความเป็นมาของบริษัทนี้ จนถึงปัจจุบันที่นี่สามารถผลิตไข่ไก่สดปลอดสารพิษได้เป็นจำนวนหกล้านฟองต่อวันเพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดปักกิ่งและทั่วประเทศตามลำดับ อีกทั้งยังอนุญาตให้คณะเข้าไปชมการคัดเแยกไข่ไก่สดจากสายพานที่นำส่งไข่ไก่สดออกมาจากโรงออกไข่ไก่ เพื่อนำมาบรรจุส่งขายต่อไป ระบบของที่นี่ออกแบบไว้สมบูรณ์มากแห่งหนึ่ง มีการใช้แรงงานจากมนุษย์แค่ช่วงท้ายสุดของขั้นตอนการผลิตนั่นคือ การคัดแยกและบรรจุไข่ส่งขายต่อเท่านั้น นอกนั้นเป็นการผลิตโดยใช้เครื่องจักรและสายพานต่างๆ เป็นหลัก ที่น่าสนใจคือ ที่นี่ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเอง โดยออกแบบโรงผลิตไฟฟ้าไว้บริเวณส่วนท้ายของบริษัท แหล่งที่มาของพลังงานมี 2 แบบได้แก่ แบบแรกมาจากพลังงานแสงอาทิตย์และแบบที่สองได้นำขี้ไก่มาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าซึ่งไม่ต้องซื้อหาและมีจำนวนมากมายในแต่ละวัน โดยได้ออกแบบท่อรองรับขี้ไก่ในแต่ละโรงเรือนและส่งตรงไปยังโรงงานผลิตไฟฟ้านี้ตลอดเวลา
รูป C ขั้นตอนการบรรจุไข่ไก่สดก่อนส่งจำหน่ายในตลาดปักกิ่ง
จากนั้นทางการเหยียนชิ่งได้พาไปเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวที่เรียกความสนใจจากชาวกรุงปักกิ่งและชาวเมืองบริเวณรอบๆ เป็นจำนวนมากในแต่ละปี จนกลายเป็นเทศกาลประจำปีที่ทุกคนต่างนึกถึงหากฤดูหนาวมาถึง นั่นคือ "เทศกาลประติมากรรมน้ำแข็งและโคมไฟหิมะของหลงชิ่งเสีย" ซึ่งได้นำเอาจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์มาเป็นพัฒนาเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวอย่างน่าสนใจเพราะที่นี่จะมีช่องแคบที่เกิดจากหุบเขาชนกัน และมีทะเลสาบขนาดใหญ่ที่ใครๆ ต่างเรียกว่า "กุ้ยหลินปักกิ่ง" บรรยากาศดังกล่าวจะเห็นได้ในฤดูร้อน แต่สำหรับฤดูหนาวนี้ก็จะมีเทศกาลน้ำแข็งและโคมไฟหิมะจัดแทน พื้นที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาและออกแบบให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวครบวงจร มีทั้งโรงแรมและรถไฟไต่เขาเพื่อขึ้นไปชมทัศนียภาพอันงดงามทางฝั่งทะเลสาบ หากเป็นฤดูร้อนก็จะได้พายเรือที่นั่นด้วย ถือเป็นอีกสถานที่ท่องเที่ยวให้ชาวปักกิ่งและชาวเมืองใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจจะไม่มีเวลาในจีนมากนัก แต่อยากสัมผัสบรรยากาศที่ว่านี้ ก็สามารถมาท่องเที่ยวได้ที่เขตชานเมืองแห่งนี้ได้ นอกจากจะได้ปีนกำแพงเมืองจีนช่วงปาต๋าหลิ่ง ยังได้มาเดินชมความสวยงามของเทศกาลน้ำแข็งและโคมไฟหิมะหลงชิ่งเสียด้วย เพราะอยู่ในเส้นทางและเขตเดียวกัน
รูป D ภายในเทศกาลประติมากรรมน้ำแข็งฯ หลงชิ่งเสีย
ก่อนกลับทางคณะก็ได้กล่าวขอบคุณที่ทางการหยียนชิ่งได้ให้โอกาสการเยี่ยมชมดูงานและให้ข้อมูลที่น่าสนใจทางด้านการพัฒนาเขตชานเมืองหรือชนบทที่ห่างไกลแทบจะเรียกว่าไม่มีอะไรเลยในสมัยก่อนให้กลายเป็นเขตเมืองใหม่ทางเศรษฐกิจที่ได้ดึงเอกลักษณ์และจุดแข็งด้านภูมิศาสตร์ของตนออกมาอย่างโดดเด่นจนสร้างรายได้ให้กับเขตและประชาชนอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว ด้านผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีชื่อเสียงต่างๆ คาดว่า ทางด้านเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสถานทูตอาเซียนทุกคนจะนำไปเผยแพร่และนำเสนอเรื่องที่น่าสนใจนี้ให้กับต้นสังกัดคล้ายกับผู้เขียนเช่นเดียวกันที่ได้นำบรรยากาศมาเล่าสู่กันฟังในสัปดาห์นี้
รูป E หนึ่งในจุดเยี่ยมชมสำคัญของเทศกาลฯ หลงชิ่งเสีย
การพลิกฟื้นฟูผืนแผ่นดินและเขตชานเมืองหรือชนบทให้กลับมาเป็นที่น่าสนใจและดึงดูดให้ชาวเมืองตัดสินใจที่จะอยู่ในพื้นที่นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องอาศัยทั้งเวลาและความรู้วิทยาการมากมายในการพัฒนา แต่สิ่งสำคัญที่สุดของอำเภอเหยียนชิ่งนั่นคือ เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความมุ่งมั่นและความเชื่อว่า "ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้สำหรับการพัฒนาเขตนี้ ตลอดจนถือเอาความสุขและปากท้องของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนา"
สุชารัตน์ สถาพรอานนท์