พิธีสำคัญของวันนี้ก็คือ "บายศรีสู่ขวัญ" ซึ่งมีพาเครื่องบายศรีตั้งอยู่ที่กลางเวที ซึ่งดัดแปลงมาจากระเบียงหน้าทางเข้าอาคารสถานทูตทางทิศตะวันตก โดยขึงป้ายผ้ากั้นเป็นฉากหลังและมีข้อความว่า "สบายดีปีใหม่ พ.ส.2555 และ Happy Lao New Year 2012" ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีเครื่องบายศรีก็ต้องมีหมอสู่ขวัญเป็นของคู่กัน และวันนั้นก็ได้ข้าราชการลาวผู้ชายคนหนึ่งที่มาศึกษาทฤษฎีพรรคฯ พอดี และเดิมเคยบวชมาหลายพรรษา และเคยทำขวัญมาบ้าง เลยพอดิบพอดีได้มาสวมผ้าสะพายเฉียงนำเสียงสวดตามหลักพุทธศาสนาก่อน จากนั้นก็เป็นบทบายศรีที่ทั้งให้ความรู้สึกเปี่ยมไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ และสนุกสนานตามรูปแบบการเล่นกลอนภาษาลาว ที่มักนำเอาวิถีชีวิตประจำวัน ขนบ และลักษณะนิสัยของคนลาวมาท่องไว้ในบทบายศรีนี้ด้วย นอกจากทำให้เห็นความเป็นคนเจ้าบทเจ้ากลอน และการแต่งเติมสร้อยคำที่หลากหลาย ก็ได้เห็นความเชื่ออื่นๆ ที่เป็นเฉพาะแบบของลาวในการทำพิธีนี้ด้วย เช่น การเรียกขวัญเพื่อให้มารับปีใหม่ ซึ่งเป็นความเชื่อของคนลาวว่า คนเรานั้นเกิดมาพร้อมกับ "ขวัญ" ที่จะติดตามเราไปตลอดชีวิต แต่ก็มีบ้างที่เราทำผิดพลาดไปบ้าง ขวัญก็มักจะเตลิดเปิดเปิงหนีไปไม่อยู่กับเนื้อกับตัวบ้าง ดังนั้นเมื่อถึงพิธีสู่ขวัญ หมอขวัญก็จะช่วยเรียกให้ขวัญกลับมาสู่ตัวเราอีกครั้ง เป็นการเสริมสิริมงคลให้กับทุกคน ให้ขวัญอยู่กับเนื้อกับตัวตลอดไป
ทุกครั้งที่หมอขวัญจบตอนสวด คนที่เข้าร่วมพิธีก็จะรับพร้อมกันด้วยการพูดว่า "สาธุ" จากนั้นก็จะพากันหว่านข้าวสารแห้งใส่ศีรษะของทุกคน ซึ่งปกติจะเป็นข้าวเหนียว แต่เนื่องจากอยู่ต่างประเทศ ข้าวเหนียวหายากและแพงกว่าจึงโปรยข้าวเจ้าแทน แม้จะแผกจากรายละเอียดพิธีจริงๆ แต่ก็ยังคงความหมายเดิมที่ว่า "มีกินมีใช้ไม่ขาดเหลือ"
หลังจากเสร็จพิธีบายศรีสู่ขวัญ ทุกคนก็จะหยิบเชือกฝ้ายจากพา ซึ่งเชื่อว่าได้รับการปลุกเสกแล้วโดยผ่านสวดเมื่อสักครู่ ซึ่งโดยมากแล้วผู้น้อยก็จะเดินไปหาผู้ใหญ่ที่เคารพ เพื่อให้ผู้ใหญ่ช่วยผูกข้อไม้ข้อมือและอวยพรปีใหม่ให้ ซึ่งยิ่งได้ฝ้ายผูกแขนมากว่าเท่าก็จะยิ่งมีความสุขความเจริญมากเท่านั้น
ในพิธีแบบลาวนั้นผู้น้อยจะต้องเอามือข้างที่ไม่ได้ผูกแขนพนมไว้ข้างเดียว ส่วนอีกข้างคว่ำหลังมือให้ยื่นให้ผู้ใหญ่ ฝ่ายผู้ใหญ่ก็จะใช้มือทั้งสองข้างจับปลายของเชือกฝ้ายไว้แล้วเอาส่วนตรงกลางฝ้ายที่ผูกเป็นปมไว้กวาดลงไปบนข้อแขนใกล้หลังมือ แล้วพูดว่า "ฮ้ายกวดหนี" ซึ่งแปลว่า "ขอให้โชคร้ายจงออกไป" จากนั้นผู้น้อยก็ต้องพลิกด้านหน้ามือขึ้น เพื่อให้ผู้ใหญ่กวาดฝ้ายอวยพรอีกรอบ ซึ่งผู้ใหญ่ก็จะพูดว่า "ดีกวดใส่" ซึ่งแปลว่า "ขอให้มีแต่เรื่องดีๆ" เมื่อเสร็จสิ้นคำนี้แล้วก็จะเป็นการอวยพรในสิ่งที่ดีๆ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าท่านผุ้ใหญ่ที่เราไปขอพรจะให้พรอะไรเรามาบ้าง โดยมากก็มักจะเป็นว่า "ขอให้ร่ำขอให้รวย ขอให้สวย ขอให้เก่ง มีแต่คนรัก มีแต่คนหลง หน้าที่การงานก้าวหน้า ครอบครัวมีแต่ความสุขความเจริญ"