ดังนั้นขณะที่ "โอลิมปิก ลอนดอน 2012" เปิดฉากขึ้นที่แดนผู้ดี ชาวจีนที่เคยเป็นเจ้าภาพในครั้งก่อน ต่างก็ย่อมต้องระลึกถึงนาทีสำคัญของตัวเองที่ไม่อาจลืมเลือนเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา
กล่าวถึงการได้รับคัดเลือกให้เป็นประเทศเจ้าภาพโอลิมปิกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เมืองและประเทศที่ยื่นตัวเองเสนอจัดงานต้องมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน ทั้งความทันสมัย การเดินทางที่สะดวกสบาย ความพร้อมของผู้คนท้องถิ่น และงบประมาณในการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับคนจากทั่วโลก ซึ่งนั่นก็หมายความว่า นอกจากความพร้อมด้านจิตใจ ความพร้อมด้านกำลังทรัพย์และขนาดเศรษฐกิจของประเทศก็เป็นตัวชี้วัดตัดสินว่าเมืองนั้นจะถูกเลือกหรือไม่
The London Shooting Venue สนามแข่งขันกีฬายิงปืน
ในโอลิมปิก ลอนดอน 2012 ออกแบบโดยบริษัทแม็กม่า อาคิเทคเทอร์
อย่างที่กรุงปักกิ่ง เมื่อรู้ตัวว่าจะได้เป็นเจ้าภาพล่วงหน้าก็ตระเตรียมทุกอย่าง และมีแผนการก่อสร้างเมืองใหม่ออกมาอย่างชัดเจน และพลิกภาพลักษณ์ของเมืองจนเป็นอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งคนที่เคยมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แล้วมาอีกครั้งในช่วงนี้ย่อมเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน
สิ่งที่ปรากฎขึ้นใหม่นี้มีทั้งในลักษณะสิ่งก่อสร้างถาวรและค่านิยมทางจิตใจที่ถูกกล่อมเกลาปลูกฝังมาจากการเป็นเจ้าภาพ
ในด้านจิตใจนั้น โอลิมปิกได้มอบของขวัญสำคัญให้กับคนจีน นั่นก็คือ การนิยมออกกำลังกายที่เพิ่มมากขึ้น ดูแลเอาใจใส่สุขภาพของตัวเองจริงจัง มีจิตอาสาเพราะผ่านการเป็นอาสาสมัครในช่วงนั้นมาแล้ว เปิดตัวเองกับคนต่างชาติมากขึ้น และเปิดใจกับวัฒนธรรมที่แตกต่าง
Coca-Cola Beatbox Pavilion อาคารสันทนาการของบริษัทโคคาโคล่าในโอลิมปิก ลอนดอน 2012
ออกแบบโดย เพอร์นิลลา ออร์สเตดต์ และอาซิฟ ข่าน
จะเห็นได้ว่า "อาสาสมัคร" ที่เกิดขึ้นในสาธารณสถานต่างๆ ช่วงโอลิมปิกก็ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยบริการในรถไฟใต้ดินยามช่วงเวลาคับคั่ง อาสาสมัครดูแลจัดคิวผู้โดยสารที่ป้ายรถประจำทาง รวมถึงการพร้อมช่วยเหลือชาวต่างชาติของคนปักกิ่งก็ยังคงอยู่เช่นกัน
สิ่งนี้เป็นของขวัญที่ยั่งยืนที่สุด เพราะเมล็ดพันธุ์แห่งความปรารถนาดีต่อผู้อื่นนี้ได้ฝังรากลึกลงไปในสังคมอย่างแนบแน่นแล้ว
Beijing National Stadium หรือ the Bird's Nest หรือ "สนามกีฬารังนก" ในโอลิมปิก ปักกิ่ง 2008
ออกแบบโดยบริษัทเฮอร์ซ็อก แอนด์เดอ เมอรอน และ อ้าย เหว่ยเหวย